Critical Thinking เป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมากมายให้เลือกเสพ เพื่อป้องกันภัยอันตรายจากข่าวลวงที่เด็กๆ อาจพบในชีวิตประจำวัน ทักษะนี้มีความสำคัญแค่ไหน แล้วสามารถสร้างได้อย่างไรกันแน่ นี่คือคำตอบเพื่อการสร้าง Critical Thinking ที่มีประสิทธิภาพซึ่งคุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
Table of Contents
Critical Thinking คืออะไร
Critical Thinking หรือที่รู้จักกันในชื่อการคิดเชิงวิพากษ์ คือทักษะการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลด้วยวิจารณญาณ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อเท็จจริงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทักษะนี้นับเป็นหนึ่งในทักษะจำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 (21st-Century Skill) ที่เด็กๆ ควรพัฒนาโดยการจัดอันดับของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เพราะ Critical Thinking จะช่วยให้เด็กๆ สามารถพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูลและจัดการกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้อย่างตรงจุด
นอกจาก Critical thinking จะกลายเป็นหนึ่งรากฐานอันแข็งแรงที่จะส่งเสริมการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นแล้ว ยังเป็นหนึ่งในเกราะป้องกันภัยจากมิจฉาชีพและข่าวลวงต่างๆ บน Social Media ที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในยุคดิจิทัลอีกด้วย
ปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการสร้าง Critical Thinking
การสร้าง Critical Thinking มีด้วยกันหลากหลายวิธี ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐาน 3 รูปแบบ ดังนี้
1. การทำความเข้าใจ (Understanding)
การทำความเข้าใจในข้อมูลต่างๆ เป็นองค์ประกอบแรกที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลขึ้น โดยการพยายามทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ผ่านการสังเกต หรือการมีส่วนร่วม ไปจนถึงการจินตนาการจากข้อมูลที่รับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 จะช่วยขยายขอบเขตความรู้ให้มีความลุ่มลึกมากขึ้น และยังช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ผู้เรียนมีทัศนวิสัยที่กว้างขวางอีกด้วย
2. การวิเคราะห์ (Analysis)
หลังจากที่เข้าใจข้อมูลต่างๆ แล้ว การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของข้อมูลแต่ละชุดด้วยการใช้ตรรกะคือกระบวนการถัดไปที่ควรทำ โดยใช้หลักการของเหตุและผลเป็นพื้นฐานในการคิดต่อยอดและพิจารณาข้อมูลที่ได้รับมา ซึ่งมีหลักการคิดคร่าวๆ คือ
- ความน่าเชื่อถือ สังเกตรูปแบบของข้อมูลที่ได้รับว่าเป็นข้อมูลประเภทใด สามารถเชื่อถือได้มาก น้อยเพียงใด มีพื้นฐานทางข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง เช่น ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเชิงสถิติอาจน่าเชื่อถือกว่าข้อมูลที่มาจากความรู้สึกส่วนบุคคล
- ความสมเหตุสมผล หากข้อมูลที่ได้รับมามีบางส่วนที่ดูไม่สอดคล้องกัน หรือบางอย่างที่ดูไม่น่าเป็นไปได้ อาจจะต้องพิจารณาความถูกต้องของข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง
- ความเชื่อมโยงของแต่ละชุดข้อมูล ทำการวิเคราะห์ว่าข้อมูลแต่อย่างที่เราได้รับมามีความสัมพันธ์กันแบบใด อาจเริ่มด้วยการเชื่อมโยงเรื่องง่ายๆ ก่อน เพื่อให้เด็กๆ ชินกับการโยงเรื่องราว เช่น เพราะฝนตก (สาเหตุ) รถจึงติด (ผลลัพธ์) แล้วค่อยขยายไปในเรื่องที่ใหญ่ขึ้นและกว้างขึ้นในภายหลัง
3. อนุมานอย่างรอบด้าน (Inference)
การอนุมาน คือการคาดการณ์ผลสรุปของข้อมูลที่ได้วิเคราะห์บนหลักเหตุผล เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยจะอนุมานอย่างรอบด้านได้จำเป็นต้องอาศัยทั้งตรรกะ ไหวพริบและความสร้างสรรค์ในการตั้งคำถาม ด้วยการคำนึงถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเหมือนกับการตั้งคำถามแบบโสเครติส (Socratic Questioning) ซึ่งเป็นวิธีตั้งคำถามเพื่อต่อยอดสู่คำตอบที่เป็นข้อเท็จจริง
ยกตัวอย่าง ไฟดับ อาจเพราะหลอดไฟขาด ไฟตกหรือปัจจัยอื่นๆ แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานอื่นคือไม่ได้จ่ายค่าไฟมาหลายเดือน จึงอนุมานได้ว่าน่าจะโดนตัดไฟจึงควรไปชำระหนี้ค้างจ่ายเพื่อให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้อีกครั้ง
อยากพัฒนา Critical Thinking ต้องทำอย่างไร?
1. ฝึกรวบรวมและคัดกรองข้อมูล
การอ่านและการดูถือเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ที่ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถกระทำได้ หากต้องการฝึกในเรื่องของ Critical Thinking การฝึกให้เด็กรู้จักรวบรวมข้อมูล และคัดกรองสิ่งต่างๆ ว่าสิ่งใดสมเหตุสมผล สิ่งใดน่าเชื่อถือ จึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องใส่ใจ
2. ฝึกตั้งคำถามที่กระตุ้นการเรียนรู้
การตั้งคำถามที่ก่อให้เกิดความสงสัยในสิ่งเดิมๆ ชวนให้ขบคิดต่อและสร้างความตระหนักรู้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติ หากไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร การตอบคำถามปลายเปิดหรือปัญหาเชาว์ต่างๆ เพื่อฝึกขบคิดก็เป็นวิธีที่สามารถช่วยเด็กๆ ให้มี Critical Thinking ที่มากขึ้นได้
3. สร้างและทดสอบสมมติฐาน
การสร้างสมมติฐานด้วยการอนุมานจากข้อมูลที่ได้ ไม่จำเป็นต้องทำให้เด็กๆ หาคำตอบที่ถูกต้องเสียทั้งหมด แต่เป็นการพัฒนากระบวนการคิด และการทดสอบ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ หาคำตอบในสิ่งต่างๆ มากขึ้น และในขณะเดียวกันการสร้างและทดสอบสมมติฐานยังมีส่วนช่วยในการสร้างพื้นฐานความรู้ที่แน่นและแม่นยำกว่าเดิมอีกด้วย
4. สำรวจแนวคิดใหม่ๆ ผ่านการปรับมุมมอง
การสำรวจมุมมองที่แตกต่างจากเดิมหรือการเรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ จะช่วยขยายมุมมองทางความคิดให้กว้างขึ้น ช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่และยังมีผลให้เด็กๆ สามารถตั้งคำถามที่กระตุ้นการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการสำรวจแง่มุมใหม่นั้นสามารถเริ่มทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเส้นทางเดินกลับบ้าน การพูดคุยในเชิงลึก (Deep Conversation) หรือการจินตนาการว่าโลกที่ไม่มีแมลงตัวเล็กๆ อย่างผึ้งจะเป็นอย่างไร
สรุป
Critical Thinking เป็นทักษะที่สามารถสร้างได้ผ่านการฝึกฝนและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้ โดยวิธีการคิดแบบนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ตลอดชีวิตในทุกๆ สถานการณ์ และสำหรับการเรียนการสอนแล้วนอกจากการเรียนรู้ที่ดีย่อมต้องมีตัวช่วยที่มีคุณภาพด้วย
True VLEARN แพลตฟอร์มห้องเรียนดิจิทัลจาก True VWORLD ที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้แบบเรียลไทม์จากทุกสถานที่ นอกจากนี้ยังมี Learning Support และ E-Learning Hub บนเทคโนโลยีคลาวด์ที่มีความปลอดภัยของข้อมูลสูงจากทรู ช่วยให้ทุกการพัฒนาทักษะของคุณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ True VLEARN
อ้างอิง