Blended Learning เป็นอีกหนึ่งเทรนด์การเรียนแบบใหม่ในยุค New Normal ที่ตอบโจทย์ความทันสมัยและมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ด้วยการผสมผสานการเรียนแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน กลยุทธ์นี้มีความโดดเด่นแค่ไหน และสามารถประยุกต์ใช้กับการศึกษาปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร ไปดูพร้อมๆ กันเลย!
Table of Contents
รู้จักกับ Blended Learning
Blended Learning คือ การเรียนรู้แบบผสมผสานที่นำการเรียนรู้แบบออนไลน์และการเรียนในห้องเรียนแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกัน ซึ่งการเรียนรู้แบบ Blended นี้มีการประยุกต์ใช้มานับสิบปีแล้ว แต่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ในช่วงยุค Digital Transformation ที่ผ่านมานี่เอง
Blended Learning หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Hybrid Learning มีการวางสัดส่วนในการเรียนออนไลน์ไว้ตั้งแต่ 30-70% ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละวิชา โดยมีการใช้สื่อการสอนแบบออนไลน์เป็นหลักที่เน้นความยืดหยุ่นและเข้าถึงง่ายของผู้เรียน แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งกิจกรรมในห้องเรียน เช่น การทดลองต่างๆ เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเด่นของ Blended Learning
1. มีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย
อ้างอิงจากทฤษฎีพีระมิดแห่งการเรียนรู้ (Learning Pyramid) จากงานวิจัยของ NTL Institute มีการระบุไว้ว่าวิธีการเรียนรู้แต่ละวิธีจะทำให้ผู้เรียนสามารถจดจำและเรียนรู้เนื้อหาการเรียนได้มีประสิทธิภาพแตกต่างกัน อย่างเช่นการอ่านจะช่วยให้จำได้ 10% การฟังจะช่วยให้จำได้ 20% และการได้ลองปฏิบัติด้วยตัวเองจะช่วยให้จำได้ 75%
การเรียนออนไลน์เพียงแค่อย่างเดียวจึงอาจไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากขาดการปฏิบัติจริง และการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวก็อาจมีความรู้ไม่ทันสมัย รวมไปถึงขาดสิ่งจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็นเท่าที่ควร Blended Learning มีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย จึงเป็นรูปแบบการศึกษาที่น่าสนใจกว่า เพราะสามารถนำเสนอสิ่งต่างๆ ผ่านสื่อมากมาย พร้อมมีตัวอย่างจริง รวมถึงการลงมือทำกิจกรรมจริงๆ ดังนั้นการเรียนรู้แบบผสมผสานนี้จึงเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดสำหรับการเรียนแบบใหม่ในยุค New Normal
2. สภาพแวดล้อมในการเรียนที่ดีกว่า
Blended Learning เป็นรูปแบบการเรียนที่ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากกว่าการเรียนแบบออนไลน์ โดยการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียนจะช่วยสร้างบรรยากาศที่เหมาะกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการร่วมกันหาคำตอบภายในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี และเมื่อเทียบกับการเรียนแบบออนไลน์หรือการเรียนแบบดั้งเดิมแล้ว Blended Learning ยังช่วยขยายระยะเวลาโฟกัสในการเรียนให้มีความยาวมากขึ้นได้ ซึ่งนอกจากผลดีที่ผู้เรียนจะได้รับแล้ว Blended Learning ยังเอื้อต่อการปรับปรุงคุณภาพหลักสูตรของผู้สอนให้เหมาะกับกลุ่มผู้เรียนอีกด้วย
3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
คุณประโยชน์อีกข้อของ Blended Learning ที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย คือการสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการแนะนำของผู้สอน โดยผู้เรียนสามารถค้นคว้าหัวข้อที่ตนเองยังไม่เข้าใจหรือมีความสนใจมากเป็นพิเศษได้อย่างรวดเร็วผ่านสื่อการสอนออนไลน์โดยไม่ต้องรู้สึกกดดันเหมือนการเรียนพร้อมกันกับผู้เรียนคนอื่นๆ นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับแต่งความเร็วในการเรียนให้เหมาะกับตัวเองแล้ว Blended Learning ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการเชื่อมโยงความรู้จากการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภายนอกอีกด้วย
จัดการการเรียนรู้แบบผสมผสานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
ใช้การเรียนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่
อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าการเรียนแบบ Blended Learning จะต้องมีสัดส่วนของเนื้อหาที่นำเสนอผ่านระบบออนไลน์ระหว่าง 30-70% แต่ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ด้วยตัวเองของผู้เรียนแล้ว โครงสร้างสัดส่วนการเลคเชอร์แบบออนไลน์ของ Blended Learning อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
อ้างอิงจากงานวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การปรับตัวเลขการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้ขยับขึ้นมาที่ 60% และใช้การทำกิจกรรมและการเรียนในห้อง 40% จะส่งผลดีต่อผู้เรียนมากที่สุด กระนั้นตัวเลขดังกล่าวก็ยังสามารถรปรับเปลี่ยนได้ตามสไตล์การสอนและความเหมาะสมของแต่ละวิชาเช่นกัน
ใช้การแนะนำแบบโค้ชมากกว่าเลคเชอร์ (coaching)
การสอนแบบบรรยายเนื้อหาหรือเลคเชอร์จะเป็นวิธีการถ่ายทอดความรู้ที่พบเห็นได้เป็นปกติ แต่สำหรับการเรียนแบบ Blended Learning แล้ว การโค้ช (Coaching) ผ่านการตั้งคำถามที่น่าสนใจให้ผู้เรียนได้ขบคิดและค้นคว้าคำตอบอาจเป็นวิธีการสอนที่ดึงประสิทธิภาพในตัวผู้เรียนออกมาได้มากกว่า
เพราะผู้เรียนสามารถเรียนรู้บทเรียนเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บช่วยสอนและเครื่องมือออนไลน์ต่างๆ อยู่แล้ว การโค้ชจะช่วยเสริมในส่วนของการขบคิดและแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านการตอบคำถามภายในชั้นเรียนให้มากขึ้น และส่งผลในการผลักดันทักษะการคิดวิเคราะห์วิพากษ์หรือ Critical Thinking ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการต่อยอดไปสู่การศึกษาในอนาคตของผู้เรียนนั่นเอง
ใช้เครื่องมือช่วยสอนและเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
Blended Learning เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ควรใช้เครื่องมือช่วยสอนและเทคโนโลยีเพื่อการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิดีโอการเรียนต่างๆ แพลตฟอร์มการส่งงานของผู้เรียนหรือห้องสนทนาออนไลน์ก็ล้วนอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้เรียนและผู้สอน อีกทั้งการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังสามารถขยายขอบเขตการเรียนรู้ของผู้เรียนให้กว้างขึ้นกว่าเก่า ช่วยลดความเครียดและภาระงานที่ไม่จำเป็นต่างๆ ของครูผู้สอนลง ทำให้ผู้สอนมีเวลาในส่วนนี้ที่สามารถนำไปใช้ในการออกแบบวิธีการสอนและแผนกิจกรรมดีๆ ให้กับผู้เรียนได้มากขึ้นอีกด้วย
สรุป
Blended Learning เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่ผสมผสานรูปแบบการเรียนออนไซต์ที่มีจุดเด่นในการถ่ายทอดประสบการณ์จากการลงมือทำกิจกรรม ร่วมกับการเรียนแบบออนไลน์ ที่มีความยืดหยุ่น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในจุดต่างๆ ตอบโจทย์ยุคสมัย ซึ่งการจัดการเรียนการสอนแบบนี้จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง
True VLEARN แพลตฟอร์มห้องเรียนดิจิทัลจาก TRUE VWORLD เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยให้การจัดการเรียนรู้ในมิติใหม่กลายเป็นเรื่องง่าย มีฟังก์ชันครบครันเหมาะสำหรับการเรียนยุค New Normal เช่นเดียวกับ True VROOM ที่เป็นแพลตฟอร์มห้องประชุมยุคใหม่ ตอบโจทย์ทั้งการเรียนและการทำงานจากที่ไหนก็ได้ได้ โดยคุณสามารถดูรายละเอียดของทั้งสองแพลตฟอร์มได้ที่ True VLEARN และ True VROOM
อ้างอิง